Site Overlay

Chulalongkorn University

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย[9] ตั้งอยู่ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร[10] ถือกำเนิดจาก “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ “พระเกี้ยว” มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน[11] การดำเนินงานของโรงเรียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 (นับแบบเก่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประดิษฐานขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[12] สมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์[13] นับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 ถึงปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผู้บัญชาการและอธิการบดีมาแล้ว 17 คน อธิการบดีคนปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์[14]

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทยจากหลายสถาบันจัดอันดับ ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพของมหาวิทยาลัย คุณภาพบัณฑิต คุณภาพด้านการวิจัย ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย คุณภาพด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยในเขตเมือง และคุณภาพแยกตามรายวิชาอีก 27 รายวิชา[15][16]

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จาก กระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2552 และได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาในระดับดีมากจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN)[17] และเป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (APRU)[18][19] ในส่วนของการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษานั้นพบว่า ผู้สมัครสอบที่ทำคะแนนรวมสูงสุดในแต่ละปีส่วนใหญ่เลือกเข้าศึกษาต่อในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[20]

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ใช้คำว่า “นิสิต” เรียกผู้เข้าศึกษาในสังกัดของสถาบัน เพราะเมื่อแรกก่อตั้ง ที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือว่าอยู่ไกลจากเขตพระนครซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญในขณะนั้น จึงมีการสร้างหอพักเพื่อให้ผู้เข้าศึกษาสามารถพักอาศัยในบริเวณมหาวิทยาลัยและใช้คำว่า “นิสิต” ในภาษาบาลีที่แปลว่า “ผู้อยู่อาศัย” เรียกผู้เข้าศึกษา ด้วยมีลักษณะเช่นเดียวกับการไปฝากตัวเป็นศิษย์และอยู่อาศัยกับสำนักอาจารย์ต่าง ๆ ของนักเรียนในระบบการศึกษาแบบโบราณ เช่น การฝากตัวเป็นศิษย์ที่สำนักของบาทหลวงหรือวิทยาลัยแบบอาศัยของมหาวิทยาลัยในยุโรป ส่วนในประเทศไทย นักเรียนจะไปฝากตัวที่วัดเป็นศิษย์ของพระภิกษุและอาศัยวัดเป็นสถานที่ศึกษา ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษจึงใช้คำว่า “Matriculated Student”[21] ที่แปลว่า “นักศึกษาที่ได้รับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว” เรียกผู้เข้าศึกษา เช่นเดียวกับคำว่า “นิสิต”[22] ทั้งนี้ ในอดีต โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนใช้คำว่า “นิสิต” เรียกผู้จบการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายและเรียนเพื่อสอบวิชาเป็นบัณฑิต[23] แม้ว่าในปัจจุบันการคมนาคมจะสะดวกขึ้นอย่างมาก เขตปทุมวันซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปเป็นย่านธุรกิจการค้าใจกลางกรุงเทพมหานคร นิสิตไม่มีความจำเป็นต้องพักในหอพักนิสิตทุกคนอีกต่อไป แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงใช้คำว่า “นิสิต” เรียกผู้เข้าศึกษา เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาของสถาบันเช่นเดิม[24]

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “สามย่าน” สามารถอนุมานถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เพราะอาณาเขตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดต่อกับสี่แยก 2 แห่ง คือแยกสามย่านและแยกปทุมวัน ทั้งสองแห่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย[25] เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ สถาบันการเงิน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์และศูนย์การค้าหลายแห่ง[26] จนกลายเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[27] และใช้ในการแปรอักษรตอบโต้ ในงานงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นทุกปีระหว่างสองมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทยคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ[28]

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ถือเป็นพิธีสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีขึ้นครั้งแรกในประเทศ บุคคลสำคัญจากหลายสาขาอาชีพได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก เช่น เอกอัครราชทูตจากนานาประเทศ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ทำให้พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นการหน้าที่นั่งของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์นับแต่นั้นเป็นต้นมา[29] กล่าวคือหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถเสด็จได้ ก็จะเป็นการถวายปฏิญญาต่อพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์และรับพระราชทานปริญญาบัตรจากผู้แทนพระองค์ ธรรมเนียมนี้ได้ใช้ปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผลทางกฎหมายก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477[30] ถึง 4 ปี เพราะมีพระบรมราชโองการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2459 เป็นกฎหมายที่ให้สิทธิและอำนาจอันชอบธรรมแก่มหาวิทยาลัย ในการประสาทปริญญาแก่นิสิตผู้สำเร็จการศึกษาอยู่ก่อนแล้ว[31]

ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกอบไปด้วย 19 คณะวิชา 1 สำนักวิชา ครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และมีหน่วยงานประเภท วิทยาลัย 3 แห่ง บัณฑิตวิทยาลัย 1 แห่ง สถาบัน 14 แห่ง และสถาบันสมทบอีก 2 สถาบัน[32] จำนวนหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 506 หลักสูตร ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี 113 หลักสูตร ระดับบัณฑิตศึกษา 393 หลักสูตร ในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรภาษาอังกฤษ 87 หลักสูตร[33]